วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2552

วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ไทยพื้นถิ่นราชบุรีกับประเพณีการทำบุญตักบาตร "แกงสำรวม"

เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม
โพหักเป็นชุมชนไทยแท้กลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่ง ที่ปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณพื้นที่นี้ มาช้านาน และใช้ชีวิตแบบดั้งเดิม มีวิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมประเพณีแบบไทยแท้มาโดยตลอด นับตั้งแต่การปลูกสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยก็จะเป็นเรือนไทยหลังคาสูงยอดแหลม ประกอบอาชีพ ทำนาและเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก รั้วบ้านปลูกต้นไผ่สีสุกไว้โดยรอบเพื่อกันลม เนื่องจากไผ่สีสุกมีลำต้นสูงใหญ่ ความยาวประมาณ 10-18เมตร ที่โคนลำต้นมีการแตกหน่อ มีกิ่งก้านที่โคนกอแน่นหนาสำหรับป้องกันขโมยและสัตว์ร้ายที่จะเข้ามาในบ้าน ผลพลอยได้จากรั้วไผ่ คือ ใช้หน่อมาทำเป็นอาหาร สำต้นนำมาทำคานหาบ ทำเสากระทู้รั้ว หรือคอกวัว การเดินทางไปมาหาสู่กัน จะใช้เรือเป็นพาหนะ มีลำคลองและลำรางเป็นเส้นทางเดินเรือ ในฤดูแล้งจะเดินตามคันคลองหรือคันนา
สภาพความเป็นอยู่ จะอยู่กันเป็นหมู่บ้านมีความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ช่วยกัน ทำมาหากิน มีไมตรีจิตต่อกัน ถ้าขาดแคลนสิ่งใดจะทำเองปลูกเองและเก็บไว้ใช้สอย หากทำเองไม่ได้ ก็จะใช้วิธีการแลกเปลี่ยนโดยการนำเอาข้าวเปลือกไปแลก มะพร้าว น้ำตาล เกลือ ฯลฯ

ศิลปหัตถกรรมและช่างพื้นบ้าน
คนโพหักเป็นคนรักสวยรักงาม จึงมีการแสดงออกการสร้างสรรค์ผลงาน ด้านศิลปวัฒนธรรมและงานช่างผีมือ เนื่องจากการทำนาจะใช้เวลาว่างในการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในการจัดทำเครื่องจักสานต่างๆ เช่น กระจาด กระบุง กระทาย กระด้ง ตะแกรง กะโล่ ตะกร้า กระเป๋า ฝาชี หมวก งอบ กะพ้อม กล่อมใส่ข้าว ลอบไช ชัง สุม ตะข้อง เป็นต้น

ประเพณีการทำบุญ
ชาวโพหักยังอนุรักษ์ประเพณีการตักบาตรทำบุญที่สืบทอดกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ คือ “การตักบาตรแกงสำรวม” การตักบาตรแกงส้มรวม หรือ “แกงสำรวม” คือการตักแกงหลายๆ อย่างผสมรวมกัน การตักบาตรแกงสำรวมจะทำในวันพระและเทศกาลเช่น วันตรุษ สงกรานต์ วันเข้าพรรษา วันพระกลางเดือน และวันพระสิ้นเดือน โดยโยมที่มีลูกหลานบวชเป็นพระอยู่ที่วัด จะหาบกระจาดมาที่วัดเพื่อมาตั้งสำรับ การตั้งสำรับก็คือการนำถาดซึ่งในสำรับมีถ้วยอยู่ประมาณ 5-6 ใบ วางอยู่ในถาด มาตั้งวางเรียงกันเป็นแถวสำหรับตักบาตรโดยให้ชาวบ้านนำแกงมาตักใส่ถาดละช้อน จนหมดถ้วยที่นำมาจากบ้าน หรือจนครบทุกถาด (สำรับ) ชาวบ้านโพหักจะนิยมคัดสรรทำของที่ดีที่สุดเพื่อนำมาถวายพระ อาหารที่นำมาถวายพระจะมีข้าวสวยและกับข้าว ส่วนใหญ่จะเป็นแกงกะทิ (แกงคั่ว) แกงหมู แกงเนื้อ แกงปลา แกงหอย แกงปลาย่าง และผักต่างๆ เช่น หน่อไม้ มะเขือเปาะ มะเขือพวง ดอกขี้เหล็ก สับปะรด หัวตาล ฯลฯ แกงทุกอย่าง จะถูกรวมกัน ลงในถ้วยเดียวกันเรียกว่า “แกงสำรวม” หลังจากนั้นโยมพระก็จะนำข้าวและกับข้าวหรือแกงสมรวม ขนมสมรวม หาบขึ้นไปถวายพระแต่ละรูปที่เป็นลูกหลานของตนที่บนศาลา เมื่อพระฉันเสร็จแล้ว โยมก็จะนำไปแจกญาติผู้ใหญ่ของตน และญาติพี่น้อง พูดได้ว่าถ้าใครมีลูกหลานได้บวชพระ จึงจะได้กินแกงสำรวม ขนมสำรวม
ชาวโพหักยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีการทำบุญตักบาตรแบบเดิมอยู่จนถึงปัจจุบัน คือ ทุกบ้านจะเตรีมอาหาร ใส่สำรับ (กระจาด) และหาบกระจาดไปวัด (กระจาดอาสา) จะมี ทุกบ้าน สำหรับผู้ที่เข้าพิธีแต่งงานจะมีของอาสาหลายอย่าง เช่น กระจาดอาสา กระบุ้งอาสา งอบอาสา ไถ่อาสา ฯลฯ กระจาดก็จะนำไปทำบุญที่วัด คนจะมองว่ากระจาดของใครสวย มีความประณีต ละเอียด สวยงามกว่ากัน การแต่งกาย ก็จะนุ่งผ้าถุง และใส่เสื้อ ไม่มีใครนุ่งกางเกง หรือใส่เสื้อผ้าแบบอื่นไป เพราะจะต้องถูกมองไม่ดีและจะถูกนินทา
เนื่องจากชาวบ้านโพหักเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดียิ่ง ยึดมั่นในหลักของการทำความดี เชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษ การตักบาตรแกงสมรวม จึงอาจเป็นกุศโลบาย ของบรรพบุรุษชาวโพหัก ที่ต้องการให้ลูกหลาน เข้าถึงหลักธรรมของพระพุทธเจ้า จึงสอนให้รู้จักการปลง การพิจารณาในรูป รส กลิ่น เสียง รู้จักคิดว่าเรากินอาหารเพื่ออะไร เพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ เพื่อได้ประกอบกิจการ คุณงามความดีต่าง ๆ ไม่ได้กินเพื่อรสชาดติดความอร่อย
แกงสำรวมจึงเป็นอาหารที่ชาวโพหักนำไปแจกจ่ายให้กับญาติพี่น้อง ได้รับประทานกัน เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ตนและครอบครัว และเป็นที่น่าแปลกก็คือแกงสำรวมจะมีรสชาดอร่อย เพราะแกงร้อยหม้อ พันหม้อมารวมอยู่ในถ้วยเดียวกัน บางบ้านก็อาจมีรสเค็ม จืด หรือออกหวาน แต่มารวมอยู่ในถ้วยเดียวกันทำให้รสชาติกลมกล่อมยิ่งนัก



***************

ประชุมวางแผนดำเนินงาน